การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ศิลปะการแสดงโดยใช้โน้ตเต้น
เนื้อหา:
หัวหน้าโครงการ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ เชิญสวัสดิ์
โครงการวิจัยนี้ได้พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนโน้ตเต้น ซึ่งแนวคิดการใช้โน้ตเต้นในการเรียนนาฎศิลป์ ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ และยังมีอุปสรรคอยู่มาก ไม่ว่าจะการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านโน้ตเต้นในการถ่ายทอด ความยากในการจดจำสัญลักษณ์ที่มีจำนวนมาก เป็นต้น ทางคณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่า การที่เราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรค์นี้ได้ จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้โน้ตเต้นได้ด้วยตนเอง และเครื่องมือเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถสร้างแบบเรียนโน้ตเต้นของท่าพื้นฐานได้
โครงการวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 3 วัตถุประสงค์ 1) การพัฒนาเครื่องมือที่สามารถสร้างโน้ตเต้นอัตโนมัติ เพื่ออาจารย์ผู้สอนสามารถนำโน้ตดังกล่าวไปใช้ในการเรียนการสอนได้ 2) การพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้โน้ตเต้นด้วยตนเอง และ 3) การประยุกต์ใช้โน้ตเต้นในการเรียนการสอนกระบี่ผ่านการใช้เครื่องมือการเรียนรู้โน้ตเต้นด้วยตนเองเครื่องมือในการเรียนการสอนโน้ตเต้นเป็นการสร้างแอนิเมชั่นจากโน้ตเต้น เพื่อให้ผู้ใช้เห็นภาพการเคลื่อนไหวที่ตรงกับสัญลักษณ์ของแต่ละตัวโน้ต เครื่องมือนี้มีฟังก์ชันที่สำคัญคือ ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้าง ปรับแต่งโน้ตเต้น และแอนิเมชั่นที่สามารถสร้างขึ้นอย่างเรียลไทม์
เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้ต่อไปนี้ นักเต้นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ Labanotation จะสามารถบันทึกการเคลื่อนไหวร่างกายและแปลงให้เป็น Labanotation ได้ นักเต้นที่สามารถบันทึกการเคลื่อนไหวร่างกายของพวกเขาและแปลงให้เป็น Labanotation เพื่อใช้เป็นเครื่องช่วยจำได้ ครูสอนเต้นรำที่สามารถใช้ระบบในการจัดทำสื่อการสอนได้ และนักออกแบบท่าเต้นที่สามารถใช้ระบบในการบันทึกความคิดเกี่ยวกับการออกแบบท่าเต้นสำหรับการแสดงได้
การนำเครื่องมือทั้งสองที่กล่าวข้างต้นมาประยุกต์ใช้กับท่ารำไม้กระบี่ของไทย คณะผู้วิจัยได้ออกแบบและพัฒนาตัวละครและฉากหลังสำหรับการรำกระบี่ วิเคราะห์และศึกษาสัญลักษณ์โน้ตเต้นเพื่อประดิษฐ์สัญลักษณ์ที่เฉพาะสำหรับท่ารำไม้ เช่น สัญลักษณ์ของท่าถือกระบี่ เป็นต้น การนำสัญลักษณ์ของมือในนาฎศิลป์มาใช้ เช่น ตั้งวง จีบ เป็นต้น
บทสรุปผู้บริหาร (Exclusive summary)
สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาศักยภาพและคุณลักษณะของผู้เรียน ไม่เพียงแต่มุ่งให้ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การส่งเสริมการเรียนการสอนด้านศิลปะการแสดงและนาฏศิลป์ ช่วยส่งเสริมผู้เรียนให้มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ศิลปะการแสดงและนาฏศิลป์นี้ยังเป็นศิลปวัฒนธรรมไทยที่จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดรุ่นต่อรุ่น งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนและคุณลักษณะของผู้เรียนด้วยศิลปะการรำ เช่น นาฏศิลป์ รำกระบี่ รำมวยไทย เป็นต้น
นาฏศิลป์เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะของดนตรี โดยผู้เรียนใช้การจดจำท่ารำจากครูผู้สอนซึ่งสาธิตการขยับร่างกายเข้าจังหวะและให้ผู้เรียนปฏิบัติตาม ผลของการเรียนรู้แบบนี้ขึ้นกับพรสวรรค์ของผู้เรียนและประสบการณ์ของครูผู้สาธิต เมื่อเปรียบเทียบกับการเล่นดนตรี ผู้เรียนและผู้สอนใช้โน้ตดนตรีเป็นภาษากลางในการสื่อสารแทนการสาธิตเพียงอย่างเดียว การใช้โน้ตดนตรีจึงช่วยส่งสริมศักยภาพของผู้เรียนให้มีความสามารถทางดนตรีในระดับ สำหรับนาฏศิลป์แบบตะวันตก (เช่น บัลเลต์) ได้มีการคิดค้นโน้ตเต้นที่เรียกว่าลาบานโนเทชัน (Labanotation) หรือระบบลานเพื่อใช้ในการบันทึกท่าเต้นประกอบจังหวะ การเรียนการสอน และการออกแบบท่าเต้น เป็นต้น
ข้อได้เปรียบของการใช้โน้ตเต้นคือ 1) การบันทึกท่ารำที่เป็นผลงานของผู้ประพันธ์และเป็นระบบมาตรฐานสากล 2) ผู้ประพันธ์สามารถสร้างสรรค์ผลงานและบันทึกลงในกระดาษ ซึ่งสะดวกกว่าการอัดวีดิทัศน์หรือวาดภาพประกอบ 3) ผู้แสดง (ผู้เต้นรำ) สามารถใส่ลูกเล่นเช่นเดียวกับการเล่นดนตรี ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานการแสดงที่แตกต่างกันในการใช้โน้ตเต้นเดียวกัน และ 4) การอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการเต้นรำอย่างเป็นระบบมาตรฐานสากล
แนวคิดการใช้โน้ตเต้นในการเรียนนาฎศิลป์ ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ และยังมีอุปสรรคอยู่มาก ไม่ว่าจะการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านโน้ตเต้นในการถ่ายทอด ความยากในการจดจำสัญลักษณ์ที่มีจำนวนมาก และผู้เริ่มต้นเรียนโน้ตอาจเกิดความท้อแท้เพราะความซับซ้อนของโน้ตเต้น ซึ่งประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ ส่วนของร่างกายที่เคลื่อนไหว ระดับความสูงและทิศทางการเคลื่อนที่ของส่วนของร่างกาย จังหวะการเคลื่อนที่ (จังหวะต่อ 1 ห้องดนตรี) และระยะเวลาของท่าทางการเคลื่อนที่ ดังนั้นการเรียนโน้ตควรเริ่มต้นจาก การสอนท่าเต้นรำพร้อมแสดงตัวโน้ตกำกับเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยและตัวโน้ตแต่ละตัวพร้อมกับท่ารำประกอบ นอกจากนี้ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในช่วงเริ่มต้นของการบันทึกท่ารำด้วยโน้ตเต้น คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านโน้ตเต้น และการบันทึกโน้ตเต้นของไทยไม่เป็นรูปแบบสากล
งานวิจัยนี้ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วย 1) การพัฒนาซอฟต์แวร์การสร้างโน้ตเต้นพื้นฐานจากข้อมูลโมชั่นแคปเจอร์อย่างอัตโนมัติ พร้อมๆกับ 2) การพัฒนาซอฟต์แวร์การเรียนรู้ท่ารำด้วยตนเอง โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้จดจำโน้ตเต้นและท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งสามารถฝึกปฏิบัติได้ด้วยตนเอง และ/หรือนำมาใช้ในชั้นเรียนประกอบการสอน และ3) การพัฒนาคู่มือการเรียนการสอนโน้ตเต้นควบคู่กับท่ารำไม้ (กระบี่)
โครงการวิจัยนี้ได้พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนโน้ตเต้น ซึ่งแนวคิดการใช้โน้ตเต้นในการเรียนนาฎศิลป์ ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ และยังมีอุปสรรคอยู่มาก ไม่ว่าจะการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านโน้ตเต้นในการถ่ายทอด ความยากในการจดจำสัญลักษณ์ที่มีจำนวนมาก เป็นต้น ทางคณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่า การที่เราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรค์นี้ได้ จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้โน้ตเต้นได้ด้วยตนเอง และเครื่องมือเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถสร้างแบบเรียนโน้ตเต้นของท่าพื้นฐานได้ โครงการวิจัยนนี้แบ่งออกเป็น 3 วัตถุประสงค์ได้แก่
1) การพัฒนาเครื่องมือที่สามารถสร้างโน้ตเต้นอัตโนมัติ เพื่ออาจารย์ผู้สอนสามารถนำโน้ตดังกล่าวไปใช้ในการเรียนการสอนได้
2) การพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้โน้ตเต้นด้วยตนเอง และ
3) การประยุกต์ใช้โน้ตเต้นในการเรียนการสอนกระบี่ผ่านการใช้เครื่องมือการเรียนรู้โน้ตเต้นด้วยตนเอง
สำหรับวัตถุประสงค์แรก ทางผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือที่สามารถสร้างโน้ตเต้นอัตโนมัติ ที่ช่วยนักออกแบบท่าเต้นหรืออาจารย์ผู้สอนการเต้นสามารถสร้างโน้ตเต้น Labanotation จากข้อมูลการบันทึกความเคลื่อนไหวได้ ซึ่งโดยปกติแล้วการจดบันทึกนำโน้ตเต้นจะเป็นการบันทึกลงกระดาษซึ่งต้องใช้ทักษะและระยะเวลาอย่างมาก องค์ประกอบที่เป็นนวัตกรรมของเครื่องมือนี้คือมีการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวร่างกายและการแบ่งนับท่าทางต่างๆ เพื่อที่จะแปลงเป็นโน้ตเต้นที่สามารถนำมาใช้กับฮาร์ดแวร์ที่ราคาไม่สูงนักได้ ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าวิธีการและคุณภาพของโน้ตเต้น Labanotation มีประสิทธิภาพและใช้งานได้ ด้วยการที่ Labanotation มีความละเอียดไม่มาก ผู้ใช้แต่ละคนก็อาจตีความหมายของสัญลักษณ์ต่างกันไป เครื่องมือที่นำเสนอนี้มี Graphical User Interface (GUI) สำหรับตั้งค่าต่างๆ ให้กับผู้ใช้ได้ทำการตั้งค่าสัญลักษณ์ได้ เช่น เกณฑ์องศาที่กำหนด ทิศทางการเคลื่อนไหว และระดับในความสูง เช่นยกมือในระดับ สูง กลางและต่ำ คณะผู้วิจัยมีความมั่นใจว่าเครื่องมือนี้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้ต่อไปนี้
1) นักเต้นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ Labanotation จะสามารถบันทึกการเคลื่อนไหวร่างกายและแปลงให้เป็น Labanotation ได้
2) นักเต้นสามารถบันทึกการเคลื่อนไหวร่างกายของพวกเขาและแปลงให้เป็น Labanotation เพื่อใช้เป็นเครื่องช่วยจำได้
3) ครูสอนเต้นรำที่สามารถใช้ระบบในการจัดทำสื่อการสอนได้
4) นักออกแบบท่าเต้นที่สามารถใช้ระบบในการบันทึกความคิดเกี่ยวกับการออกแบบท่าเต้นสำหรับการแสดงได้
ในส่วนของวัตถุประสงค์ที่ 2 งานวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือการเรียนการสอนโน้ตเต้นด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพการเคลื่อนไหวที่ตรงกับสัญลักษณ์ของแต่ละตัวโน้ต เครื่องมือนี้มีฟังก์ชันที่สำคัญคือ GUI ที่ให้ผู้เรียนสามารถสร้าง ปรับแต่งโน้ตเต้น และดูแอนิเมชั่นที่สามารถสร้างขึ้นอย่างเรียลไทม์ โดยมีฟังก์ชันการทำงานที่สำคัญเหมาะกับผู้เริ่มเรียนโน้ตเบื้องต้นดังนี้ GUI สำหรับผู้ใช้ในการสร้างโน้ตเต้น โดยใช้เม้าส์ในการคลิก ลาก และขยายสัญลักษณ์โน้ตเต้น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้ง่ายและรวดเร็ว ซอฟต์แวร์นี้รองรับการสร้างโน้ตเต้นสำหรับนักแสดงหนึ่งคน โดยโน้ตเต้นที่ป้อนเข้าระบบอาจมาจากผู้ใช้เป็นผู้สร้างขึ้นเอง หรือว่าได้จากซอฟต์แวร์การสร้างโน้ตอัตโนมัติ (ในวัตถุประสงค์ที่ 1 นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องมือนี้ให้รองรับกับท่ารำไม้กระบี่ของไทย โดยคณะผู้วิจัยได้ออกแบบและพัฒนาตัวละครและฉากหลังสำหรับการรำกระบี่ วิเคราะห์และศึกษาสัญลักษณ์โน้ตเต้นเพื่อประดิษฐ์สัญลักษณ์ที่เฉพาะสำหรับท่ารำไม้ เช่น สัญลักษณ์ของท่าถือกระบี่ เป็นต้น การนำสัญลักษณ์ของมือในนาฎศิลป์มาใช้ เช่น ตั้งวง จีบ เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้ต่อไปนี้
1) นักเรียนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ Labanotation จะสามารถดูแอนิเมชั่นจากตัวโน้ตที่ได้สร้างไว้ ซึ่งผู้ให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจตัวโน้ตมากยิ่งขึ้น
2) ครูสอนเต้นรำที่สามารถใช้เครื่องมือนี้ในการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้
สำหรับวัตถุประสงค์ที่ 3 การวิจัยเรื่องการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์การเรียนรู้ด้วยตนเองในการเรียนการสอนพื้นฐานโน้ตเต้นสากลกับการแสดงศิลปะการรำกระบี่มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์การเรียนรู้ด้วยตนเองใน การเรียนการสอนพื้นฐานโน้ตเต้นสากลกับการแสดงศิลปะการรำกระบี่ ในชั้นเรียนระหว่างกลุ่มผู้เรียนที่ได้เรียนรู้โดยใช้ซอฟต์แวร์การเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนิสิตเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2559 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การได้มาของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คณะผู้วิจัยใช้วิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) โดยคัดเลือกจากความเหมาะสมของผู้เข้ารับการอบรมโดยมีเกณฑ์การคัดนิสิตที่จะเก็บผลลัพธ์การเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการทดลองออกไปโดยมีเกณฑ์การคัดนักศึกษาเพื่อเก็บผลลัพธ์การเรียนรู้ไปใช้ในการทดลองดังนี้
1) เป็นนิสิตเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ที่จะต้องฝึกประสบการณ์วิชาชีพในภาคการศึกษาที่ 1
2) มีผลการทดสอบผลลัพธ์ทางการเรียนด้านทักษะกีฬากระบี่ครบทุกรายการทั้งก่อนและหลังการทดลอง
3) สำหรับกลุ่มทดลองมีคลิปวิดีโอการแสดงทักษะกีฬากระบี่ที่มอบหมายครบตามจำนวนข้อที่ระบุไว้ในแบบทดสอบผลลัพธ์การเรียนรู้
สำหรับผลการเรียนรู้ตัวโน้ต มีดังนี้ ผู้เรียนได้คะแนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 147.5 เมื่อใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ตัวโน้ต (คะแนนเฉลี่ยก่อน 3.83 คะแนน คะแนนเฉลี่ยหลัง 9.49 คะแนน โดยได้คะแนนเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 5.67 คะแนน) ผู้เรียนสามารถเขียนตัวโน้ตพื้นฐานได้ในเกณฑ์ พอใช้ 8%, ดี 30% และ ดีมาก 42%
สำหรับผลการเรียนรู้ทักษะกระบี่ ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ท่ารำกระบี่และไม่เคยเรียน 85% ผู้เรียนได้คะแนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 122.8 เมื่อใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ตัวโน้ต (คะแนนเฉลี่ยก่อน 1.30 คะแนน คะแนนเฉลี่ยหลัง 2.9 คะแนน ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1.5 คะแนน) ผู้เรียนสามารถเข้าใจตัวโน้ตของท่ารำกระบี่ได้ในเกณฑ์ เขียนตัวโน้ตพื้นฐานได้ในเกณฑ์ นักศึกษาสามารถเข้าใจท่าพื้นฐาน 67%
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานวิจัยต่อเนื่องนั้นมีทิศทางในการวิจัย 2 ทิศทาง ดังนี้
1) การขยายระบบให้รองรับสัญลักษณ์ Labanotation ได้มากขึ้น และจัดทำการประเมินอย่างละเอียดในระดับที่กว้างขึ้น
2) การประยุกต์ใช้ระบบที่นำเสนอนี้ไปใช้กับการบันทึกสัญลักษณ์การเต้นรำแบบอื่นด้วย เช่น การจดบันทึกการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยระบบเบเนช (Benesh Notation เป็นระบบโน้ตเต้นที่ใช้กับการเต้นบัลเลต์) เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายได้มากขึ้นและทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบบการจดบันทึกการเคลื่อนไหวทั้งสองระบบ แต่ในการเปรียบเทียบนับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะกลุ่มผู้ใช้ที่มีความคุ้นเคยกับทั้งสองระบบมีน้อยมากและไม่ค่อยพบมากนัก
โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายชุมชนและสังคม (สกว.) และ สำนักคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใน ปี 2558