Website is currently maintenance.

การตรวจจับโค้ดที่เป็นอันตรายบนระบบปฏิบัติการมือถือ

การตรวจจับโค้ดที่เป็นอันตรายบนระบบปฏิบัติการมือถือ


เนื้อหา:
หัวหน้าโครงการ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิ่งกาญจน์ สุขคณาภิบาล งานวิจัยนี้ได้นำเสนอการใช้แบบจำลองการตรวจจับโค้ดอันตรายบนระบบปฏิบัติการของมือถือ โดยใช้ทฤษฏีการเรียนรู้ของเครื่องมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดตั้งโปรแกรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ ของผู้ใช้ที่ไม่ได้อัพเดตโปรแกรมแอนติไวรัสทันเวลา ซึ่งแบบจำลองที่ได้นำเสนอนี้ต่างจากโปรแกรมแอนติไวรัส ทั่วไปตรงที่ โปรแกรมแอนติไวรัสทั่วไปนิยมใช้หลักการของการตรวจจับรูปแบบสายอักษรที่เฉพาะเจาะจงที่ฝังในโปรแกรมเพื่อระบุว่าโปรแกรมนั้นอันตรายหรือไม่ แต่หลักการของการตรวจจับรูปแบบสายอักษรที่เฉพาะเจาะจงนั้น ทุกๆครั้งที่มีไวรัสหรือโค้ดอันตรายตัวใหม่ขึ้นมา ผู้ใช้จำเป็นต้องอัพเดตโปรแกรมแอนติไวรัสเสมอ ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ผู้ใช้พลาดการอัพเดตให้ทันเวลาก็จะตกเป็นเป้าของไวรัสตัวใหม่เสมอ ในขณะที่แบบจำลองที่นำเสนอได้ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง ในการรู้จำกลุ่มของโค้ดอันตรายทำให้ยังคงตรวจจับโค้ดอันตรายได้ถึงแบบว่าโค้ดอันตรายตัวใหม่ได้มีรูปแบบแตกต่างไปบ้างก็ตาม ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยเริ่มจาการ (1) รวบรวมแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทั้งแอปพลิเคชันปกติและแอปพลิเคชันที่เป็นอันตราย (2) การสกัดคุณลักษณะ โดยวิเคราะห์การกระจายตัวของความถี่ของไบต์เอ็นแกรม ค่าความถี่ของเทอมและค่าความผกผันของเทอม ซึ่งในงานวิจัยนี้ n มีค่าเท่ากับ 3 (3) สร้างโมเดลของการจำแนกโค้ดอันตรายจากใช้คุณลักษณะที่ได้ทั้งในส่วนของแอปพลิเคชันปกติและแอปพลิเคชันที่เป็นอันตราย ในการทดลองได้ใช้โค้ดอันตรายจำนวน 304 โค้ด และโค้ดปกติจำนวน 553 โค้ด สำหรับการสร้างโมเดลของการจำแนกโค้ดอันตราย และสำหรับการทนต่อโค้ดอันตรายใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล พบว่าโมเดลที่ได้นำเสนอนั้นมีร้อยละความแม่นยำมากกว่า 85.52 ในขณะที่ร้อยละค่าความไว และร้อยละความจำเพาะมีค่าเท่ากับ 71.26 และ 90.52 ตามลำดับ โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใน ปี 2556